สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย และมีผลพวงมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2544 โดยเนื้อหาของตัวกฎหมาย และ รายละเอียดมีความยาวและยากแกการเข้าใจ แต่ผมทำการสรุปประเด็นสำคัญ และพยายามอธิบายให้ง่ายแก่การเข้าใจ ดังเนื้อหาด้านล่างครับ
กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
ที่มา จัดตั้งขึ้น ภายใต้พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พศ.2555
กรอบเงินลงทุนเบื้องต้นโดยรัฐบาล 50,000 ล้านบาท โดยจัดตั้งเป็นกองทุนประกันภัยพิบัติ โดยแบ่งเงินลงทุนเป็น
1.รัฐบาลลงทุนให้เบื้องต้น 20,000 ล้านบาท และคาดหวังให้บริษัทประกันภัยไปจำหน่ายกรมธรรม์เพื่อนำเงินเข้ากองทุน
2. รัฐบาลลงทุนอีก 30,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อสัญญาป้องกันความเสี่ยงกับ ต่างประเทศ
คำจำกัดความของ “ ภัยพิบัติ ” หมายถึง
อุทกภัย ( น้ำท่วม ) , วาตภัย ( ลมพายุ ), ธรณีพิบัติภัย ( แผ่นดินไหว ) โดยต้องมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1. ต้องมีการประกาศโดย ครม. ว่าเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติ หรือ
2. จำนวนค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป หรือ
3. กรณีแผ่นดินไหว ความรุนแรงตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือ กรณีลมพายุ ความเร็วลมตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
ความคุ้มครอง
น้ำท่วม ลมพายุ และ แผ่นดินไหว ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และ 3 ภัย รวมกันในวงเงินที่ซื้อประกันคุ้มครอง
โดยกรมธรรม์ประกันภัยพิบัตินี้จะออกเป็นกรมธรรม์อีก 1 ฉบับ แยกออกมาจากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย แต่จะออกในนามของบริษัทประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยมีหน้าที่ในการส่งค่าเบี้ยประกัน ( หลังจากหักสัดส่วนที่ตนเองรับไว้เองแล้ว ) เข้ากองทุนภัยพิบัติ
การแบ่งประเภทของผู้เอาประกัน
1. บ้านพักอาศัย สามารถซื้อความคุ้มครอง ภัยพิบัติได้ไม่เกิน 100,000 บาท
2. SME ( ทุนประกันภัยไม่เกิน 50 ล้านบาท ) ซื้อความคุ้มครองได้ไม่เกิน 30% ของทุนประกันรวม
3. อุตสาหกรรม ( ทุนประกันภัยเกิน 50 ล้านบาท ) ซื้อความคุ้มครองได้ไม่เกิน 30% ของทุนประกันรวม
อัตราเบี้ยประกันภัย
1. บ้านพัก 0.5%
2. SME 1%
3. อุตสาหกรรม 1.25%
ตัวอย่างการคำนวนเบี้ยประกัน
โรงงาน A มีทุนประกันโรงงานทั้งหมด 48 ล้านบาท
ดังนั้นทุนประกันต่ำกว่า 50 ล้านบาท จัดอยู่ในประเภท SME
ความคุ้มครองภัยพิบัติที่สามารถซื้อได้ไม่เกิน 30% ของทุนประกัน คือ ไม่เกิน 14.4 ล้านบาท
อัตราเบี้ยประกันที่ใช้ 1% กรณีที่ซื้อความคุ้มครอง 14.4 ล้านบาท เบี้ยประกันจะอยู่ที่ 144,000 บาท
การรับประกัน จะมี Waiting Period 7 วัน คือ จะไม่คุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นภายใน 7 วันนับจากวันที่เริ่มคุ้มครอง
ประเด็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
1. จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้ ต่อเมื่อต้องเข้าเงื่อนไข ตามคำจำกัดความของภัยพิบัติก่อน
2. มีความเสียหายส่วนแรก 5% คือผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบความเสียหายเองมูลค่า 5% แรกของความเสียหาย เช่นกรณีที่เกิดน้ำท่วม ได้รับความเสียหายรวม 100,000 บาท ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง 5,000 บาท กองทุนภัยพิบัติจ่ายโดยผ่านทางบริษัทประกันภัย 95,000 บาท, กรณีเกิดความเสียหาย 3,000,000 บาท ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง 150,000 บาท กองทุนภัยพิบัติจ่ายโดยผ่านทางบริษัทประกันภัยจำนวน 2,850,000 บาท แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัย
3. จำนวนเงินเอาประกันภัยพิบัติ จะใช้สำหรับ 3 ภัยพิบัติรวมกัน และจะลดลงทุกครั้งที่มีการเรียกร้องค่าสินไหม เช่น
ผู้เอาประกัน ซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติไว้ 1,000,000 บาท หมายความว่า ความคุ้มครอง ภัยน้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุ รวมกันคือ 1,000,000 บาท ( มิใช่ภัยละ 1,000,000 บาท ) และถ้ามีการเรียกร้องค่าสินไหมในระยะเวลาการประกัน เช่น มีการเรียกร้องความเสียหายจากน้ำท่วมไป 750,000 บาท วงเงินความคุ้มครองจะเหลือเพียง 250,000 บาท จนครบสัญญาประกันภัยในปีนั้น และไม่สามารถซื้อเพิ่มเติมได้
4. บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อบริษัทได้รับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนตามสัดส่วนที่เอาประกันภัยไว้ครบถ้วนแล้ว
5. กรมธรรม์ประกันภัยพิบัตินี้ จะปฎิเสธการจ่ายความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งรัฐบาลประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ พื้นที่กักเก็บน้ำ หรือพื้นที่ทางน้ำไหลผ่าน และผู้เอาประกันมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล โดยในกรณีที่มีการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติไว้จะได้รับเบี้ยประกันภัยคืน ( อธิบายเพิ่มเติม คือกรณีที่มีน้ำท่วม และรัฐบาลประกาศให้บางพื้นที่ต้องเสียสละเป็นพื้นที่รับน้ำ กักน้ำ หรือทางน้ำผ่าน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้ ผู้เอาประกันที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหม จากกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติได้ เนื่องจากถือว่าได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลแล้ว แต่สามารถขอเบี้ยประกันคืนได้ )
*** อ่านเพิ่มเติม สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ระหว่าง กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ และ ภัยเพิ่มภัยธรรมชาติ
บทความที่เกี่ยวข้อง : http://www.kstronginsure.com/read/161
|