ขับรถชนมีคนเจ็บ ( ตอนที่ 5 )
จากเหตุการณ์ ตอนที่แล้ว ที่น้องก้อยของเราไปเยี่ยมบีซัง คนเจ็บ มีข้อมูลที่สำคัญบางเรื่องที่น้องก้อยได้ถามไปบ้างแล้ว เกี่ยวกับระยะเวลาในการรักษาตัว สำหรับตอนนี้เรามาดูกันต่อไปว่าน้องก้อยควรต้องรู้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม
สิ่งต่อไปที่ควรรู้ คือ บีซังทำงานอะไร และมีรายได้อยู่ประมาณเท่าไหร่ครับ เพราะจะมีผลต่อการคำนวณค่าสินไหมทดแทน
เมื่อน้องก้อยรู้ดังนั้น ก็เอ่ยปาก พูดกับบีซังว่า “ แล้วบีต้องหยุดงานนานอย่างนี้จะเป็นอะไรไหมเนี่ย ก้อยอะรู้สึกแย่จัง ว่าแต่ว่าบีทำงานที่ไหนรึเนี่ย ….” เมื่อสบโอกาส น้องก้อยของเราก็ยิงคำถามเข้าทางทันที
“ อ๋อ บีทำงานอยู่ที่ธนาคาร อยู่ฝ่ายการตลาดคะ เพิ่งพ้นโปรมาได้ไม่นาน เนี่ยเพิ่งได้ปรับเงินเดือนมาเป็น 12,000 บาท คะ”
ในขณะที่น้องก้อย ไม่ทราบว่าข้อมูลที่บีซังบอกมานั้นมีความหมายอย่างไร แต่ก็เดาได้ไม่ยากใช่ไหมครับว่า มีใครคนหนึ่งกำลังคำนวณตัวเลขบางอย่างอยู่ ก้อยศรีนึกในใจว่า “แล้วตกลงมันเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนยังงัยเนี่ย”
แหมจะให้บอกเลยก็ไม่เท่ ซิน้องก้อย เอาเป็นว่าเทียบบัญญัติไตรยางค์ ให้ดูคร่าวๆ แล้วกัน คือ จากข้อมูลที่เรามี บีซังต้องหยุดงานทั้งหมด 20 วัน โดยได้เงินเดือนอยู่ที่ 12,000 บาท ต่อเดือน มันพอบอกอะไรน้องก้อยได้ไหมครับ
ก้อยยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ แล้วตอบทันทีว่า “ หมายความว่า บีอาจถูกลดเงินเดือน ใช่ไหมหละ”
….. ไม่เป็นไรครับน้องก้อย ผมเฉลยดีกว่า จากตัวเลขที่เราได้ ก็คำนวณคร่าวๆ ได้ว่า ระยะเวลา 20 วันที่พักรักษาตัว บีซังน่าจะมีเงินได้ประมาณ 9,000 บาท ซึ่งก็เป็นหลักคิดค่าสินไหมทดแทนอย่างคร่าวๆ นะ ที่บริษัทประกันเขาใช้กัน เพื่อทดแทนการที่ต้องมาเจ็บตัวจากการได้รับอุบัติเหตุ แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่เขาคิดประกอบด้วย เช่นกรณี คนเจ็บเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องทำงานหาเลี้ยงคนอื่นๆ บางบริษัทประกันเขาก็อาจยืดหยุ่นเพิ่มเติมให้นิดหน่อย ซึ่งโดยหลักแล้วก็ต้องมีใบรับรองเงินเดือน มาแสดงนะครับ แต่ถ้าเป็นอาชีพที่ไม่มีใบรับรองเงินเดือน เช่นค้าขายอิสระ ก็ต้องมาว่ากันตามเหตุและผลครับ ……
ยังงัยน้องก้อย ก็บอก น้องบีหน่อยก็ดีนะครับว่า วันที่ไป โรงพักเพื่อนัดเจรจากันเนี่ย ให้น้องบีนำเอกสารไป 3 อย่างครับ คือ ใบรับรองแพทย์ที่ระบุจำนวนวันที่ให้พักรักษาตัว , ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล และ ใบรับรองเงินเดือนครับ ทั้ง 3 อย่างนี้จะเป็นเอกสารที่ใช้ในการพิจารณาการจ่ายจากบริษัทประกันครับ
สรุปคือในกรณีที่น้องก้อยเป็นฝ่ายผิด บริษัทประกันจะเข้ามาดูแลผู้บาดเจ็บใน 2 เรื่องครับ นอกเหนือจากค่าซ่อมมอเตอณ์ไวต์ นะครับ คือ
1. ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งถ้าคนเจ็บใช้สิท์ พรบ. ค่ารักษา พยาบาลเบื้องต้น 15,000 บาท แรก ทางโรงพยาบาลจะติดต่อกับทางบริษัทประกันเจ้าของ พรบ. สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนแรกนี้ แต่ในส่วนที่เกิด 15,000 บาท มา ทางคนเจ็บอาจต้องสำรองจ่ายไปก่อน โดยให้เก็บใบเสร็จไว้ เพื่อให้นำไปแสดงต่อบริษัทประกันของผู้เอาประกันฝ่ายผิด ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีใบเสร็จชัดเจน
2. เรื่องค่าสินไหมทดแทน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาเจรจากันตามความเหมาะสม ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของคนเจ็บครับ ว่ามีลักษณะอย่างไร อย่างที่กล่าวเช่น รายได้ จำนวนวันที่พัก ก็ต้องมาตกลงกัน ตามความเหมาะสมให้เป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ ค่าสินไหมทดแทนนี่แหละครับที่จะใช้เวลาในการตกลงกันหลายรอบ
ส่วนเหตุการณ์ ที่เหลือ ก็จะเป็นอย่างนี้ครับ คือต้องรอจนบีซัง คนเจ็บ เนี่ยออกจากโรงพยาบาล และ สะดวกพอที่จะไปโรงพักได้ ก็จะต้องนัดร้อยเวร ครับเพื่อให้คู่กรณี ( รวมถึงพนักงานเคลมของบริษัทประกันทั้ง 2 ฝ่ายด้วยนะครับ ) ทั้งหมดไปพบกันที่โรงพัก ถ้าในเรื่องการเกิดเหตุ ชัดเจนว่าใครผิดใครถูก ก็จะเป็นเรื่องของการเจรจาตกลงกันเรื่องค่ารักษากับ ค่าสินไหมทดแทน นั่นแหละ ครับ ก็ต้องคุยกันครับ ด้วยเหตุด้วยผล อย่าคิดว่าจะเอาอย่างเดียวหรือจะประหยัดอย่างเดียว ถือว่าอุบัติเหตุใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ผมว่าอะไรพออะลุ่มอล่วยได้ ก็ช่วยเหลือกันดีกว่า ต่างฝ่ายต่างจะได้ไปใช้ชีวิตกันตามปกติ
และเมื่อตกลงกันได้แล้ว ทางน้องก้อย ก็ให้ ร้อยเวรทำบันทึกนะครับว่า น้องบีคนเจ็บ ยอมรับความช่วยเหลือ และไม่ติดใจเอาความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เพื่อเป็นหลักฐาน
ส่วนในทางดคี ก็เป็นดุลยพินิจ ของร้อยเวรว่าจะทำเรื่องส่งฟ้องอัยการหรือไม่ น้องก้อยก็ลองคุยกับทางร้อยเวรดู เพราะในกรณีของน้องก้อยเนี่ยก็เป็นอุบัติเหตุ นอกจากนั้นน้องก้อยก็ติดตามเรื่องตลอด และให้ความช่วยเหลือคนเจ็บจนคนเจ็บพอใจ ก็เป็นไปได้สูงครับ ที่ร้อยเวรอาจไม่ส่งฟ้อง
ที่เล่ากันมายาว ในเรื่องของน้องก้อย หวังว่าทุกท่านคงเห็นภาพ นะครับว่าขั้นตอนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง คงจะมีประโยชน์ กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย แต่อย่างไรก็แล้วแต่ไม่เกิดเหตุ ถือว่าดีที่สุดครับ ดังนั้นทุกครั้งที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัย ก็ให้ใช้ความระมัดระวังกันนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : http://www.kstronginsure.com/read/13279
|
|