อยากซื้อประกันภัยลมพายุ ประกันแผ่นดินไหว ประกันน้ำท่วม แต่ทำไมตัวแทน นายหน้า บริษัทประกันไม่ยอมขาย
สำหรับคนที่มีการทำประกันไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก ร้านค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ในปีนี้ ( 2555 หลังสถานการณ์ น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ) คำถามหนึ่งซึ่งจะถามบริษัทประกัน หรือตัวแทน นายหน้ากันคือ มีความคุ้มครองภัยธรรมชาติไหม ถ้าจะว่ากันให้ชัดคือคุ้มครอง ลมพายุ แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วม หรือเปล่า? ที่เป็นเช่นนี้เพราะจากข่าวคราวภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่ว่าเรื่องของลมพายุ ตามภาคอีสาน หรือ แผ่นดินไหว ที่ภูเก็ต ย่อมทำให้ผู้บริโภค หรือผู้เอาประกันย่อมตื่นตัวเป็นธรรมดาในเรื่องเหล่านี้ แต่ไฉน คำตอบที่ได้รับจากบริษัทประกัน หรือ ตัวแทนบางคนกลับตอบว่า ไม่มีการขายภัยธรรมชาติ “ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ถ้าอย่างนั้นจะทำประกันทำไม อย่างนี้บริษัทประกันก็เอาแต่ได้ซิ” นี่คือสิ่งที่หลายคนคิดกัน
จริงๆ แล้วประเด็นเหล่านี้ มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง อยู่ครับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะบริษัทประกันภัยก็กลัวภัยธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่กลัวในที่นี้ก้มีวิธีป้องกันครับ คือบริษัทประกันก็สามารถป้องกันความเสี่ยง โดยไปซื้อประกันภัยต่อกับบริษัทประกันต่างประเทศได้ เพียงแต่มันแพงครับ ต้องใช้เงินจำนวนมาก และต้องจ่ายไปก่อนด้วยนะครับ โดยส่วนใหญ่เขาจะซื้อป้องกันความเสี่ยงกันตั้งแต่ธันวาคมปี 54 เพราะเป็นช่วงที่สัญญาประกันภัยต่อครบกำหนดของแต่ละปี พอเป็นอย่างนี้บางบริษัทประกันก็จะกระทบ คือความสามารถในการประกันภัยต่อมีน้อย เพราะแพง หรือบางบริษัทประกันก็ไม่มีการซื้อไว้เลย ก็เลยทำให้บางบริษัทประกันภัยไม่ยอมขายภัยธรรมชาติยังไงละครับ ขายแต่ไฟไหม้อย่างเดียว ดังนั้นวิธีการบริษัทประกันภัยที่ไม่อยากขายภัยธรรมชาติจะทำอย่างไรหละ ก็ต้องจูงใจให้ตัวแทนหรือนายหน้า ประกันภัยไม่อยากขายด้วย ทำง่ายครับ โดยใช้อัตราผลตอบแทนเป็นตัวล่อ ซึ่งทุกบริษัทประกันภัยทุกบริษัทใช้วิธีนี้ คือถ้าขายประกันคุ้มครองไฟอย่างเดียวก็ให้ อัตราผลตอบแทน สูงกว่า กรณีที่ขายความคุ้มครองภัยธรรมชาติที่ต่ำกว่า พอเป็นอย่างนี้ตัวแทน ซึ่งก็ไม่ค่อยอยากขายภัยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะต้องอธิบายเยอะ มีเคลมก็ต้องเหนื่อย ก็เลยเต็มใจไม่ขายภัยธรรมชาติด้วย ไม่ว่าจะเป็น ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว ภัยน้ำท่วม ไม่ขายหมด บอกลูกค้าไปเลยว่าบริษัทประกันไม่ขาย
ซึ่งในความเป็นจริง ยังมีบริษัทประกันภัยจำนวนมากที่ยังมีการขายภัยธรรมชาติ เพียงแต่อัตราเบี้ยประกันสำหรับภัยธรรมชาติ จะมีการปรับตัวสูงขึ้น ทุนประกันสำหรับภัยธรรมชาติก็จะถูกจำกัดไม่เต็มทุน ( Sub Limit ) และจะมีการกำหนดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น มี Deduct ( ความเสียหายส่วนแรก ) 10% หรือขั้นต่ำ 5,000 บาท ของความเสียหาย ( กรณีทุนประกันไม่เยอะนะครับ ถ้าทุนประกันสูง เงื่อนไขนี้ตัวเลขก็จะสูงตาม ) อธิบายง่ายๆ คือสมมติเราประกันลมพายุ แล้วเกิดพายุถล่มเราได้รับความเสียหายทั้งหมด 30,000 บาท บริษัปประกันก็จะให้เรารับผิดก่อน 10% จากความเสียหาย คือ 3,000 บาท แต่เนื่องจากต่ำกว่าความรับผิดต่ำสุดที่กำหนดไว้ที่ 5,000 บาท ก็จะคิดที่ 5,000 บาท ซึ่งจะหักออกไป ดังนั้นบริษัทประกันก็จะชดใช้คืนให้ที่ 25,000 บาทครับ เห็นไหมครับว่าถ้าขายภัยธรรมชาติมันต้องอธิบายเยอะ นี่แค่เรื่อง Deduct ยังไม่รวมเรื่องประกันภัยพิบัติ ที่เป็นของรัฐบาลนะครับ ดังนั้นตัวแทน นายหน้า บางส่วนจึงไม่ขายกัน
ในความคิดของผมเอง ที่แนะนำให้กลับลูกค้า ผมกับมีความเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเหล่านี้ เพราะเบี้ยประกันแม้จะปรับขึ้นแต่ก็ไม่ได้สูงเกินความเหมาะสม ประกอบกับทุกวันนี้โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การซื้อความคุ้มครองไว้ ก็เท่ากับว่าเรามีเกราะป้องกันระดับนึง เพราะในเวลาที่ได้รับความเสียหาย อย่างน้อยเราก็จะมีเงินก้อนหนึ่งกลับมาเยียวยาความเสียหายนั้น เพียงแต่ต้องเลือกซื้อกับบริษัทประกันที่ถูกต้องและมีความมั่นคงครับ
ยิ่งไปกว่านั้น ผมว่าสถานการณ์ อย่างนี้ก็เป็นตัวตัดสินดีนะครับว่า นายหน้า คนไหนบ้างที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง เห็นผลประโยชน์ของลูกค้า หรือของตนเองเป็นหลัก เพราะจรรยาบรรณคือสิ่งสำคัญในอาชีพครับ หน้าที่ที่สำคัญของตัวแทนนายหน้าที่ดี คือ การหาความรู้ ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และทำการอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ ถึงข้อดี ข้อเสียและทางเลือกครับ ส่วนเรื่องการตัดสินใจเป็นหน้าที่ของลูกค้าเอง เพราะทั้งนี้ทั้งนั้นการทำประกันภัยผลจะยังไม่เกิดตอนนี้หรอกครับ จะเกิดก็ต่อเมื่อมีการเคลม ดังนั้น ความรับผิดชอบต่อหน้าที่จึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยต้องเริ่มกันตั้งแต่ตอนขายกรมธรรม์กันเลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : http://www.kstronginsure.com/read/126
|