ขับรถลุยน้ำท่วม รถน้ำท่วมประกันอาจไม่รับผิดชอบจริงหรือ
ในภาวะที่มีน้ำท่วมใหญ่ ผู้ที่มีรถยนต์เป็นพาหนะก็ย่อมต้องวิตกกังวลเป็นเรื่องธรรมดาว่ารถของท่านจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ อย่างแรกเลยก็ต้องดูก่อนว่ารถยนต์ของท่านนั้นมีประกันรถยนต์ประเภทอะไร ถ้าทำประกันรถยนต์ประเภท 1 ก็ต้องบอกว่าคุ้มครองครับ แต่ความคุ้มครองนี้ก็ยังมีเงื่อนไขอยู่นะครับ เพราะที่ทราบๆมา ปรากฎว่าบริษัทประกันใช้เงื่อนไขที่ผู้ขับขี่ขับรถไปลุยน้ำท่วม ปฎิเสธความรับผิด ในขณะที่ยังรับผิดในกรณีที่รถจอดและไม่ติดเครื่อง แต่แล้วน้ำท่วมมาทำให้เกิดความเสียหายแกตัวรถ ที่เป็นเช่นนี้เพราะความเสียหายจากทั้ง 2 สาเหตุมีความแตกต่างกันอย่างมากครับ
คือในกรณีที่รถจอดอยู่กับที่ คือไม่ได้มีการติดเครื่อง จอดรถอยู่ในบ้านแต่หนีน้ำไม่ทัน ซึ่งกรณีนี้แนะนำให้ถอดแบตเตอรี่รถยนต์ออก ถอดกล่องสมองกลออก สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับระบบไฟฟ้า นอกเหนือจากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องของน้ำที่เข้าไปในตัวรถยนต์ เช่นทำให้เบาะ ให้ พรม ได้รับความเสียหาย การซ่อมแซมก็คือนำมาทำให้แห้ง แต่คิดจะเปลี่ยนเลย ทางประกันคงไม่ให้นะครับ นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องน้ำซึมเข้าไปผสมกับระบบน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรค น้ำมันเกียร์ ซึ่งก็ต้องมีการซ่อมโดยการถ่ายน้ำมันออกหมดแล้วทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำมันใหม่ครับ แต่คาดว่าประกันจะจ่ายให้เพียงครึ่งเดียว เพราะน้ำมันที่เป็นของเหลวพวกนี้ โดยปกติต้องมีการเปลี่ยนตามอายุงานอยู่แล้ว ทางบริษัทประกันจึงมองว่ามีค่าเสื่อมดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันพวกนี้จึงมีการจ่ายชดเชยให้เพียงครึ่งเดียว
แต่ถ้าเป็นกรณีที่น้ำท่วมอยู่แล้วขับรถไปลุยน้ำแล้วเกิดเครื่องดับ อันนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีโอกาสมากที่จะถึงหลักแสน ในกรณีที่กระทบถึงเครื่องยนต์ อธิบายกันง่ายๆ ว่าเครื่องยนต์ของเราจะอยู่ภายในเสื้อสูบ ซึ่งก็คือเหล็ก 2 ชิ้นที่มาประกบกันทางด้านบน และ ด้านล่าง เพื่อปกป้องการทำงานของเครื่องยนต์ที่อยู่ภายใน โดยเหล็กทั้ง 2 ชิ้นนี้จะถูกเชื่อมให้ติดกันด้วยวัสดุชนิดพิเศษ ที่เรียกกันว่าประเก็น ซึ่งในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานนั้น ทั้งเหล็กและประเก็น จะมีการขยายตัว ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อกันนั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งนี่เองที่เป็นเหตุผลให้น้ำสามารถซึมผ่านเข้าไปในเครื่องยนต์ได้ ลองนึกภาพดูว่าในขณะที่เครื่องยนต์ กำลังทำงาน เป็นจังหวะคือ ดูด อัด ระเบิด คลาย เพื่อทำให้เกิดแรงเหวี่ยงมหาศาลขับเคลื่อนกลไกให้ล้อหมุน ต้องมีความร้อนเกิดขึ้นอย่างมากมาย ถ้าต้องไปเจอกับน้ำซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ ย่อมหมายความว่าเครื่องยนต์นั้นจะพังลงในทันที จากการเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างกระทันหัน และจากน้ำเข้าไปผสมกับน้ำมันในเครื่องยนต์ซึ่งถูกออกแบบมาให้เป็นระบบปิด ซึ่งนี่เองที่ทำให้มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมากมายเป็นเงาตามตัว ดังนั้นเพราะเหตุผลนี้เองที่บริษัทประกันภัยใช้เป็นเงื่อนไขในการปฎิเสธความรับผิดชอบเพราะอ้างเหตุที่ว่าเราเจตนานำรถไปให้เกิดความเสียหายทั้งที่จริงๆ ในส่วนของประกันประเภท1 ให้ความเสียหายคุ้มครองถึงน้ำท่วมด้วย
ดังนั้นสิ่งสำคัญ อยู่ที่การแจ้งเคลมกับพนักงานเคลมว่าลักษณะการเกิดเหตุเป้นเช่นไร เพราะใช่ว่าทุกครั้งที่ขับรถไปแล้วเจอน้ำท่วม เพราะเราตั้งใจนำรถไปลุย บางครั้งคนขับก็ขับไปโดยไม่รู้ว่ามีน้ำท่วมอยู่ด้านหน้า แล้วจะให้ทำอย่างไร เมื่อถอยหลังก็ถอยไม่ได้ ..... ดังนั้นเวลาที่มีการแจ้งเคลม ให้บอกว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่เรื่องของความตั้งใจหรือเจตนา ส่วนทางประกันจะโต้แย้งอย่างไรก็ต้องว่ากันไปครับ
ส่วนเรื่องค่ารถลาก หรือ รถยก นั้น โดยปกติบริษัทประกันต้องรับผิดชอบค่ารถยก 20% ของความเสียหาย คือถ้ารถยนต์เสียหาย 100,000 บาท ค่ารถยกหรือรถลาก ก็ทำได้ในมูลค่า 20,000 บาท แต่ในทางปฎิบัติบริษัทประกันภัยจะกด ค่ารถยกไว้ก่อน โดยอาจให้เพียง 1,500 บาท ดังนั้นเมื่อคุณรู้กฎเกณฑ์ตัวนี้แล้ว ก็ต้องค้านและต่อรองกันเองนะครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : http://www.kstronginsure.com/read/253
|