การเคลมประกัน รถชนมีคู่กรณีหรือเคลมสด
การเคลมแบบมีคู่กรณีหรือรถชนกับรถ เคลมสด คือศัพท์ที่ทางประกันเขาเรียกกัน เป็นการเคลมที่มีการชนกันระหว่างรถ หรืออาจชนสิ่งอื่นๆ และลูกค้าต้องการให้พนักงงานเคลมไปที่เกิดเหตุเลย เพื่อทำการออกใบเคลม
กรณีที่เป็นการชนโดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่ก็เป็นกรณีที่รถชนกันทั่วๆ ไปบนท้องถนน คือเสียหายแต่ทรัพย์สินคือตัวรถยนต์ ในทางกฎหมายก็ถือว่าเป็นทางแพ่ง คู่กรณีก็ต้องไปเรียกร้องกัน ถ้าตกลงกันได้ว่าใครถูกใครผิด และตกลงเรื่องราคาค่าซ่อมกันได้ก็ถือว่าจบ ยิ่งถ้ามีประกันก็สะดวกครับ เพราะถ้าเราเป็นฝ่ายผิดประกันก็ไปชดใช้คู่กรณีให้ แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายถูกก็ขึ้นอยู่กับว่าเราประกันประเภทอะไร คือถ้าเป็นประเภท 1, 2+ หรือ 3+ ก็ซ่อมได้เลยเดี๋ยวประกันไปเรียกร้องคู่กรณีให้ แต่ถ้าเป็นประเภทอื่นก็ต้องไปเรียกร้องคู่กรณีเองครับ
ในกรณีที่รถชนกัน ถ้าตกลงได้ว่าใครผิดหรือถูก เรื่องก็จะจบลงตรงที่เกิดเหตุเลยครับ ต่างฝ่ายต่างออกใบเคลมก็จบ แต่ก็มีอยู่บางกรณีที่ต้องไปจบกันที่สถานีตำรวจคือ
1. ชนแล้วทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย เช่นเสาไฟฟ้า รั้วหรือที่กั้นของราชการ ฯลฯ การชนในลักษณะนี้ จะต้องมีการไปบันทึกความเสียหายที่สถานีตำรวจครับ เพราะทางการเขาต้องใช้หลักฐานตัวนี้ในการเรียกเก็บจากบริษัทประกันทีหลัง ก็จะเสียเวลานิดนึง บันทึกเสร็จก็กลับบ้านได้ครับ
2. รถชนกันแล้วตกลงกันไม่ได้ว่าใครถูกหรือผิด คือไม่ยอมกันว่างั้น ส่วนใหญ่กรณีนี้จะเจอเมื่อรถคันหนึ่งที่ชนไม่มีประกัน คือคิดง่ายๆ ว่าลองกันซักตั้งนึง ดีกว่ายอมไปเลยเพราะต้องเสียทั้งค่าซ่อมรถตัวเองและคู่กรณี ก็เลยไม่ยอมเอาไว้ก่อน ท้ายที่สุดก็ต้องไป สถานีตำรวจ แต่จากประสบการณ์รู้ไหมว่าจะเจออะไร อย่างแรกอาจต้องรอนานมากกว่าจะจบเรื่องเนื่องจากการชนลักษณะนี้ทางตำรวจเขาไม่ค่อยสนใจ เขาถือว่าน่าจะตกลงกันเองได้มันเสียเวลาเขา ยิ่งถ้าเกิดฟลุ๊คๆ ไปตอนที่ร้อยเวรกำลังยุ่ง คือต้องออกไปนอกโรงพักเพื่อดูที่เกิดเหตุสำหรับกรณีอื่นละก้อ รับรองรอกันจนลืมไปข้างนึงเลยครับ เพราะต้องเป็นร้อยเวรเท่านั้นที่ชี้ได้ว่าใครถูก-ผิด ดังนั้นก็ต้องนั่งรอจนกว่าร้อยเวรจะกลับมา นอกจากนั้นถ้าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายผิด นอกจากจะต้องซ่อมรถให้อีกฝั่งนึงแล้ว ก็ยังต้องจ่ายค่าปรับที่สถานีตำรวจด้วย ดังนั้นถ้าไม่มั่นใจว่าถูกจริงๆ หรือขอเถียงหัวชนฝาไว้ก่อน ก็คิดดูดีๆ ก่อนนะครับ จะได้ไม่เสียทั้งเวลาและสตางค์
บทความที่เกี่ยวข้อง : http://www.kstronginsure.com/read/12657 |