หลักสุจริตอย่างยิ่ง
เป็นหลักที่กำหนดให้ผู้เอาประกันหรือลูกค้าที่จะทำประกัน มีหน้าที่คือต้องเปิดเผยความจริง ซึ่งความจริงนี้ถ้าบริษัทประกันได้รู้อาจจะปรับเบี้ยสูงขึ้นหรือปฎิเสธไม่รับประกัน เช่น คุณธวัช ต้องการจะทำประกันรถยนต์ของตน แต่รถยนต์คันดังกล่าวมีการติดตั้งระบบแก๊สมา แต่เนื่องจากคุณธวัชเกรงว่าการติดแก๊สอาจทำให้เบี้ยประกันสูงขึ้น จึงไม่ได้บอกบริษัทประกันภัยในเรื่องนี้ ปรากฎว่าต่อมารถคันนี้ได้ประสบอุบัติเหตุแล้วทำให้แก๊สระบิดรถยนต์เสียหายอย่างมาก เมื่อบริษัทประกันมาทราบว่ามีการติดแก๊สแต่มิได้แจ้ง บริษัทประกันจึงบอกเลิกสัญญาประกันภัย หรืออาจเป็นอีกกรณีคือบอกข้อมูลเท็จกับบริษัทประกันภัยเลย เช่น คุณทรงพล ต้องการประกันอัคคีภัยบ้านของตน โดยใบแบบฟอร์มมีการถามว่าตัวผนังและหลังคามีลักษณะอย่างไร เนื่องจากคุณทรงพลทราบมาจากเพื่อนบ้านว่าถ้าผนังเป็นไม้เบี้ยประกันจะสูงกว่าผนังเป็นปูน ทั้งๆที่คุณทรงพลก็รู้ดีว่าบ้านของตนผนังเป็นไม้ แต่ก็บอกข้อมูลเท็จกับบริษัทประกันไปว่าผนังเป็นปูน ดังนั้นเมื่อมีการเกิดเพลิงไหม้กับบ้านหลังนี้และภายหลังบริษัทประกันได้ทราบข้อมูลที่แท้จริง บริษัทประกันก็มีสิทธ์บอกเลิกสัญญาได้
หลักการนี้เมื่อดูผิวเผินอาจไม่ค่อยสำคัญ แต่จริงๆแล้วมีความสำคัญมาก และเกิดขึ้นเสมอๆ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราคงจำโฆษณาของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ที่บอกว่ารับประกันผู้สูงอายุโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ หลายๆ คนเห็นแล้วก็คงสนใจ แต่ในความเป็นจริงนั้นมีการแฝงข้อเท็จจริงบางอย่างอยู่ เพราะถึงแม้ไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่เมื่อท่านกรอกใบสมัครเพื่อทำประกันชีวิต ท่านก็ต้องกรอกตามความเป็นจริง เช่น ถามว่าท่านเคยมีปัญหาเรื่องความดันหรือไม่ ท่านกรอกไปว่าไม่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วท่านมีปัญหาความดันอยู่ ต่อมาปรากฎว่าท่านต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอันเนื่องมาจากปัญหาความดัน ท่านก็ทำเรื่องเบิกทางบริษัทประกัน ปรากฎว่าบริษัทประกันปฎิเสธการจ่าย โดยให้เหตุผลว่าทางบริษัทได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของท่านแล้วปรากฎว่าท่านมีปัญหาเรื่องความดันก่อนที่จะทำสัญญาประกันชีวิต ดังนั้นท่านไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริง จึงขอยกเลิกกรมธรรม์ อันนี้ก็เป็นผลมาจากการโฆษณาที่ไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมดนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง http://www.kstronginsure.com/read/72 |